การแจ้งเกิด

สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถจดทะเบียนคนเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กสัญชาติไทยที่เกิดในอินโดนีเซีย โดยมีหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในต่างประเทศ ดังนี้

สัญชาติบิดา สัญชาติมารดา สัญชาติเด็ก
บิดามารดาจดทะเบียนสมรส ไทย ไทย ไทย
อื่น ๆ ไทย ไทย
ไทย อื่น ๆ ไทย
บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไทย ไทย ไทย
อื่น ๆ ไทย ไทย
ไทย อื่น ๆ ไม่ได้สัญชาติไทย

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

ขอให้ส่งเอกสารครบถ้วนมาที่อีเมล consular.jkt@mfa.go.th เพื่อร่างส่งสูติบัติกลับให้ตรวจสอบทางอีเมล consular.jkt@mfa.go.th (Subject: THAI BIRTH CERTIFICATE) รอยืนยันวันที่รับเอกสาร
  1. แบบฟอร์มคำร้องขอจดทะเบียนคนเกิด
  2. ใบรับรองการเกิดซึ่งออกโดยโรงพยาบาลท้องถิ่น
  3. ใบแจ้งเกิดซึ่งออกโดยหน่วยงานราชการท้องถิ่นของอินโดนีเซีย พร้อมกับนำเอกสารดังกล่าวไปผ่านกระบวนการรับรองเอกสาร (รับรองที่กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย และกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ตามลำดับ ตามกฎกระทรวงการต่างประเทศไทย ปี 2562)
  4. ทะเบียนบ้านที่จะแจ้งชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย ฉบับจริงหรือสำเนา
  5. บัตรประชาชนของบิดาและมารดา ฉบับจริงหรือสำเนา
  6. หนังสือเดินทางของบิดาและมารดา ฉบับจริงหรือสำเนา
  7. ทะเบียนสมรส ฉบับจริงหรือสำเนา

 

 

หมายเหตุ

  1. บัตรประชาชนและหนังสือเดินทางต้องยังคงมีอายุใช้งานและยังไม่ถูกยกเลิก
  2. ระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยบุคคลชาวไทยนำเอกสารอย่างครบถ้วนมายื่นที่สถานเอกอัครราชทูต และรอการติดต่อกลับเพื่อเดินทางมารับเอกสารต่อไป

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการตั้งชื่อเด็ก

  1. ตามกฎหมายไทย เด็กจะต้องใช้นามสกุลตามบิดาหรือมารดาเท่านั้น (ไม่สามารถตั้งนามสกุลใหม่ขึ้นมาใช้ตามประเพณีนิยมของอินโดนีเซีย)
  2. ชื่อ-นามสกุลเด็กในสูติบัตรไทย ประกอบด้วย
    • (1) ชื่อตัว หมายถึง ชื่อประจำตัวบุคคล (First name)
    • (2) ชื่อรอง หมายถึง ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว (Middle name)
    • (3) นามสกุล หมายถึง ชื่อประจำวงศ์ตระกูล (Surname หรือ Family name)
  3. ชื่อรองไม่ใช่องค์ประกอบบังคับในการแจ้งเกิด จะมีหรือไม่มีก็ได้
  4. กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองได้ และชื่อรองต้องไม่เป็นชื่อที่อาจซ้ำกับนามสกุลของบุคคลอื่น
  5. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม
  6. ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย และต้องไม่มีเจตนาทุจริต
  7. ชื่อเด็กต้องเป็นชื่อเดียวกันทั้งในใบรับรองการเกิดที่ออกโดยโรงพยาบาลและใบแจ้งเกิดซึ่งออกโดยหน่วยงานราชการท้องถิ่นของอินโดนีเซีย
  8. ชื่อเด็กในใบแจ้งเกิดท้องถิ่นซึ่งออกโดยหน่วยงานราชการท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ควรตรงกับชื่อเด็กที่แจ้งเกิดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายไทย ดังนั้น ผู้ร้องจึงควรตั้งชื่อเด็กให้สอดคล้องกับกฎหมายไทยตั้งแต่ต้น
  9. ชื่อเด็กทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจะต้องสะกดให้ออกเสียงเหมือนกันหรือใกล้เคียงที่สุดตามหลักภาษานั้น ๆ
  10. ระเบียบเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2TRzhGp
  11. การเพิ่มชื่อเด็กเข้าในทะเบียนบ้าน จะสามารถกระทำได้เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยเด็กจะต้องมีสูติบัตรที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูต ฯ  และนำหลักฐานดังกล่าวแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้าน ต่อไป (ในกรณีที่ต้องการเพิ่มชื่อของเด็กเข้าทะเบียนบ้านที่มีที่อยู่แตกต่างจากบิดา – มารดา ขอให้จัดส่งสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวมาพร้อมด้วย)

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา

JI. DR Ide Anak Agung Gde Agung kav. NO. 3.3 (Lot 8.8),
Kawasan Mega Kuningan, Jakarta Indonesia 12950.

Tel. +62 21 2932 8190-94
Fax. +62 21 2932 8199, +62 21 2932 8201, +62 21 2932 8213