การสละสัญชาติไทย

การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย

1. ข้อมูลทั่วไป

  • ผู้ร้องที่ประสงค์ดำเนินการยื่นขอสละสัญชาติไทย สามารถส่งอีเมลมาที่ consular.jkt@mfa.go.th หัวข้อ “สละสัญชาติ” เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และยืนยันว่าท่านเป็นผู้ที่เข้าข่ายการขอสละสัญชาติไทยได้ จะนัดหมายให้ท่านและพยานมายื่นเอกสารและเข้ารับการสัมภาษณ์ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ต่อไป
  • การส่งคืนหนังสือเดินทางไทยแก่สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่ถือว่าเป็นการแสดงความจำนงในการยื่นคำร้องสละสัญชาติไทย และไม่มีผลต่อการเสียสัญชาติไทย สถานเอกอัครราชทูตฯ จะรับคืนหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนไทยของท่านคืน ก็ต่อเมื่อท่านได้เสียสัญชาติไทยสมบูรณ์แล้ว
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถออกหนังสือแจ้งว่าท่านเป็นบุคคลที่สามารถยื่นขอสละสัญชาติได้ หากพิจารณาว่าท่านอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี หนังสือดังกล่าวไม่ใช่การยืนยันว่าท่านได้เสียสัญชาติไทยแล้ว
  • การเสียสัญชาติไทยจะมีผลโดยสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 (ใช้เวลา 2-3 ปี นับจากวันยื่นคำร้องฯ)
  • การเสียสัญชาติไทยหมายถึงการเสียสิทธิอันพึงมีในฐานะคนไทย ทั้งการถือครองที่ดินและทรัพย์สินต่าง ๆ การต้องเดินทางเข้าประเทศไทยในฐานะคนต่างด้าว ฯลฯ
  • ในการกรอกคำร้องขอสละสัญชาติ ผู้ร้องต้องทราบข้อมูลของพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน โดยจะต้องระบุชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ อาชีพ และ วัน/เดือน/ปีเกิดและต้องทราบข้อมูลของพยานที่รู้เห็นการเกิดของผู้ร้อง อย่างน้อย 4 คน โดยจะต้องระบุชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ อาชีพ และ วัน/เดือน/ปีเกิด เช่นกัน
  • เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) ไม่สามารถยื่นคำร้องสละสัญชาติไทยได้
  • การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ผู้ร้องต้องให้เวลาในการเขียนคำร้องและเตรียมเอกสาร กรณีเอกสารไม่สมบูรณ์ หากส่งเรื่องไปยังหน่วยงานในประเทศไทยแล้วเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้ได้ ยิ่งทำให้การดำเนินการล่าช้ายิ่งขึ้น

2. การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 1 (ชายหรือหญิงซึ่งได้แปลงสัญชาติตามคู่สมรส)

  • มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุว่า “ชายหรือหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับชาวต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของภรรยาหรือสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของภรรยาหรือสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทยให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
  • ชายหรือหญิงไทยที่แต่งงานกับคนอินโดนีเซีย และได้สัญชาติตามคู่สมรส จึงอยู่ในข่ายที่สามารถยื่นคำร้องขอสละสัญชาติตามกฎหมายฯ มาตรา 13
  • ชายหรือหญิงสัญชาติไทยที่สมรสกับคนต่างด้าว และต่อมาคู่สมรสเสียชีวิต ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการสละสัญชาติตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 นั้น ต้องใช้เอกสาร (แบบ สช.1) คู่สมรสจะต้องมาเป็นผู้ลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถใช้ใบมรณบัตรคู่สมรสแทนได้
  • ผู้ร้องต้องกรอกคำร้องในแบบฟอร์ม สช.1
  • หลักฐานการยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย
    1. รูปถ่ายผู้ร้องขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 12 รูป (แต่งกายสุภาพ)
    2. รูปถ่ายคู่สมรสผู้ร้อง ขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 6 รูป (แต่งกายสุภาพ)
    3. ทะเบียนบ้านอินโดนีเซีย
    4. ใบสำคัญการสมรส พร้อมสำเนา 2 ชุด
    5. ใบยืนยันว่าทางการอินโดนีเซียยอมรับให้เข้าถือสัญชาติได้ ได้แก่ 1. Surat Keterangan Keimigrasian ออกให้โดย ตม. อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหลักฐานว่าผู้ร้องได้ยื่นขอมีสัญชาติอินโดนีเซีย และ 2. Keputusan Menteri Hukum dan Hak Asasi Manusia Tentang Kewarganegaraan Republik Indonesia ออกให้โดยกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซีย แจ้งยืนยันการได้รับสัญชาติอินโดนีเซียของผู้ร้องแล้ว
    6. หนังสือเดินทางไทย
    7. หนังสือเดินทางของภรรยาหรือสามีชาวอินโดนีเซีย
    8. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง
    9. ทะเบียนบ้านไทย ฉบับจริงหรือสำเนา
    10. หนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
    11. พยานบุคคล (คนไทย) 1 คน หนังสือเดินทาง บัตรประจำประชาชน ทะเบียนบ้านของพยาน เพื่อสอบปากคำรับรองยืนยันว่าผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทยจริง
    12. สำเนาสูติบัตร
    13. เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้แล้วแต่กรณี

หมายเหตุ

  • เอกสารที่ออกให้โดยทางการอินโดนีเซีย อาทิ สำเนาใบสำคัญการสมรส สำเนาหลักฐานการเข้าถือสัญชาติอินโดนีเซีย สำเนาทะเบียนบ้านอินโดนีเซีย ต้องนำไปแปลและผ่านการรับรองจากกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนและกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียก่อน (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารภายใต้หัวข้อการรับรองเอกสาร)
  • รายการในเอกสารอันเป็นสาระสำคัญ ระบุข้อมูลเกี่ยวกับสถานะบุคคลต้องถูกต้องตรงกัน ถ้าไม่ถูกต้องตรงกัน ไม่ชัดเจนว่าบุคคลตามเอกสารเป็นบุคคลคนเดียวกัน ผู้ร้องต้องไปยื่นคำร้องต่อพนังานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารนั้น เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง หรือรับรองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน

3. การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 2 (ผู้ทีได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทย หรือ เพราะการแปลงสัญชาติตามมาตรา 14 และ 15)

  • มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุว่า “ผู้ที่มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและได้สัญชาติของบิดาว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตามมาตรา 12 วรรค 2 ถ้ายังประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป ให้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทยตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์”
  • มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุว่า “ ผู้ที่มีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
  • ผู้ที่เข้าข่ายที่จะยื่นคำร้องสละสัญชาติไทยตามมาตรา 14 และ 15 ข้างต้น ได้แก่
    1. ผู้ที่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว และอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา (ผู้ร้องที่ติดตามบิดามาอยู่ในอินโดนีเซีย เข้ากฎเกณฑ์ข้อนี้ และผู้ร้องต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบรูณ์จึงจะยื่นคำร้องขอสละสัญชาติได้)
    2. ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยบิดาหรือมารดาขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
    3. ผู้ที่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว และอาจถือสัญชาติของบิดาได้ แต่ไม่ได้แสดงความจำนงขอสละสัญชาติไทยภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
    4. ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยบิดาหรือมารดาขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ได้แสดงความจำนงขอสละสัญชาติไทยภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
    5. ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น
    6. ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ
  • ผู้ร้องต้องกรอกคำร้องในแบบฟอร์ม สช.2
  • หลักฐานการยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย
    1. รูปถ่ายผู้ร้องขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 12 รูป (แต่งกายสุภาพ)
    2. รูปถ่ายบิดา มารดา ผู้ร้อง ขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 6 รูป (แต่งกายสุภาพ) พร้อมเอกสารทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทางของบิดา มารดา
    3. ทะเบียนบ้านอินโดนีเซีย
    4. หลักฐานเกี่ยวกับการถือสัญชาติอินโดนีเซีย หรือหลักฐานที่แสดงว่าอาจถือสัญชาติอินโดนีเซียตามบิดาได้
    5. หนังสือเดินทาง ฉบับจริง
    6. สำเนาสูติบัตร
    7. บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง
    8. ทะเบียนบ้านไทย ฉบับจริง
    9. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา หรือ หลักฐานสัญชาติของบิดา (หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนอินโดนีเซีย) หรือหลักฐานการแปลงสัญชาติเป็นไทยของบิดา
    10. หนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี) พร้อมสำเนา 2 ชุด
    11. สำเนาใบสำคัญทหาร (แบบ สด.9 / แบบสด. 1 หรือ สด. 8)
    12. พยานบุคคล (คนไทย) 1 คน หนังสือเดินทาง บัตรประจำประชาชน ทะเบียนบ้านของพยาน
    13. เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้แล้วแต่กรณี

หมายเหตุ

  • เอกสารที่ออกให้โดยทางการอินโดนีเซีย อาทิ สำเนาใบสำคัญการสมรส สำเนาหลักฐานการเข้าถือสัญชาติอินโดนีเซีย สำเนาทะเบียนบ้านอินโดนีเซีย ต้องนำไปแปลและผ่านการรับรองจากกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนและกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียก่อน (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารภายใต้หัวข้อการรับรองเอกสาร)
  • รายการในเอกสารอันเป็นสาระสำคัญ ระบุข้อมูลเกี่ยวกับสถานะบุคคลต้องถูกต้องตรงกัน ถ้าไม่ถูกต้องตรงกัน ไม่ชัดเจนว่าบุคคลตามเอกสารเป็นบุคคลคนเดียวกัน ผู้ร้องต้องไปยื่นคำร้องต่อพนังานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารนั้น เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง หรือรับรองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน

4. การดำเนินการของหน่วยราชการไทย

  • เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับคำร้องจากสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ไทยแล้ว จะแจ้งกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการต่อไป
  • กระทรวงมหาดไทยจะแจ้งกรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอกสารต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ซึ่งในแต่ละรายจะใช้เวลาดำเนินการต่างกันเป็นกรณี ๆ ไป ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเอกสารของผู้ร้องแต่ละราย อีกทั้งการตรวจสอบต้องให้หน่วยงานที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแต่ละสำนักทะเบียนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน
  • เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ผลการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว จึงเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติพิจารณา ซึ่งการดำเนินการจะใช้เวลานานกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บุคคลดังกล่าวเสียสัญชาติไทย
  • กรณีผู้ร้องต้องการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว สามารถไปยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้โดยตรง
    • หากมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องต่อ ฝ่ายกฎหมายและวินัย กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330 โทร. +662-2526961 และ +662-2052970
    • หากมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำร้องต่อผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนั้นๆ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา

JI. DR Ide Anak Agung Gde Agung kav. NO. 3.3 (Lot 8.8),
Kawasan Mega Kuningan, Jakarta Indonesia 12950.

Tel. +62 21 2932 8190-94
Fax. +62 21 2932 8199, +62 21 2932 8201, +62 21 2932 8213