ประวัติสถานเอกอัครราชทูต

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐอินโดนีเซียและประเทศไทย เริ่มสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และในปีพ.ศ. ๒๔๙๔ นายเสริญ ศรีกสิพันธ์ ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งอุปทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซียคนแรก ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ได้เช่าบ้านเลขที่ ๒๓ ถนนดิโปเนโกโร จากสำนักงาน Versluis เพื่อใช้เป็นอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐบาลไทยได้ซื้ออาคารเลขที่ ๗๔ ถนน Imam Bonjol เพื่อใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต เป็นอาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและชวา (Colonial-Java style) ตั้งอยู่ใกล้กับวงเวียนโรงแรมอินโดนีเซีย (Bundaran H.I.) ในย่าน Menteng อันเป็นย่านที่อยู่อาศัยและธุรกิจในเขตกรุงจาการ์ตากลาง ทั้งนี้ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงรัตนทิพ (จรูญ เอาเอี้ยง) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งประเทศไทยประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซียคนแรก

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ รัฐบาลไทยได้ซื้อบ้านพักเลขที่ ๑๐ ถนน Widyachandra เพื่อใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต และได้มีการย้ายที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปที่อาคารเลขที่ ๗๔ ถนน Imam Bonjol แทน

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ในสมัยนาย กษิต ภิรมย์ เป็นเอกอัครราชทูต ทางการกรุงจาการ์ตามีนโยบายที่จะเปิดย่านพื้นที่สำหรับสถานทูตต่างประเทศ (diplomatic conclave) แห่งใหม่ขึ้นที่ตำบล Mega Kuningan เขตกรุงจาการ์ตาใต้ รัฐบาลไทยจึงได้พิจารณาจัดซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในย่านดังกล่าว ขนาด ๕,๐๐๐ ตารางเมตร เพื่อเป็นที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย แต่หลังจากที่รัฐบาลไทยได้จัดซื้อที่ดินผืนนี้ไว้แล้ว ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจำเป็นต้องชะลอโครงการก่อสร้างอาคารสถานเอกอัครราชทูตบนที่ดินดังกล่าว

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จึงเริ่มโครงการก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา แห่งใหม่ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๑๖ เดือนจึงแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ในสมัยนายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เป็นเอกอัครราชทูต

ประกอบด้วยอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นอาคารสำนักงาน ๔ ชั้น พื้นที่ใช้สอย ๔,๘๕๕.๒๐ ตารางเมตร สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยใหม่ ส่วนหนึ่งของหลังคาและหน้าจั่วสร้างละม้ายคล้ายคลึงกับหลังคาและหน้าจั่วของเรือนไทยหรือวัดไทยแบบประยุกต์ มีอาคารชั้นเดียวด้านหน้าติดถนนใหญ่ ต่อเนื่องเชื่อมกับอาคารหลักเป็นที่ทำการฝ่ายกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต ขนาดพื้นที่ใช้สอย ๑๒๒.๒๐ ตรางเมตร เพื่อให้ติดต่อได้สะดวก และยังมีอาคาร ๔ ชั้นที่ใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตอีกหลังหนึ่ง ขนาดพื้นที่ใช้สอย ๘๒๘.๓๐ ตารางเมตร ด้านหลังอาคารสำนักงานภายในเขตรั้วเดียวกัน บริษัทผู้ออกแบบ คือ บริษัท นนท์-ตรึงใจ สถาปนิกและนักวางผัง และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างคือ บริษัท PT Jaya Obayashi โดยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมพิธีสักการะและยกศาลพระภูมิประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ และได้ทยอยย้ายเข้ามาเริ่มทำงานในอาคารสถานเอกอัครราชทูตแห่งใหม่นับตั้งแต่บัดนั้น จุดเด่นประการหนึ่งของอาคารสถานเอกอัครราชทูตแห่งใหม่นี้ คือตราครุฑขนาดใหญ่บนหน้าบันด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งจำลองขยายขนาดขึ้นมาจากตราครุฑประจำสถานเอกอัครราชทูตของจริงที่ประดิษฐานอยู่เหนือประตูทางเข้าด้านใน บริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทยในอินโดนีเซีย ๖ แห่งเป็นผู้สนับสนุน ตราครุฑดังกล่าวมีขนาดสูงถึง ๑๘๐ เซนติเมตร เพื่อให้รับกับขนาดของอาคาร และมีความสง่างามโดดเด่น

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว รักษาการในตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา และภริยา ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา และทีมประเทศไทย ประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตลอดจนตัวแทนชุมชนชาวไทยในกรุงจาการ์ตา รอรับเสด็จ ในวโรกาสดังกล่าวได้ทรงปลูกต้นมะม่วงมหาชนก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา

JI. DR Ide Anak Agung Gde Agung kav. NO. 3.3 (Lot 8.8),
Kawasan Mega Kuningan, Jakarta Indonesia 12950.

Tel. +62 21 2932 8190-94
Fax. +62 21 2932 8199, +62 21 2932 8201, +62 21 2932 8213